ทุ่มงบ 1.5 ล้านล้านบาทลงทุน


ฟื้นเศรษฐกิจ 3 ปีข้างหน้า

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่เคารพรัก สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากการพูดคุยเรื่องแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินการ รวมถึงแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่รัฐบาลดำเนินการ อยู่ดังนี้ครับ

ประชุมสภาพิจารณากฎหมาย 3 ฉบับ

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เปิดสมัยประชุมสภาวิสามัญ เพื่อที่จะต้องการขอเครื่องมือสำคัญในการที่จะไปทำงานทางด้านเศรษฐกิจ คือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ในเรื่องที่จะ ให้อำนาจกระทรวงการคลังในการที่จะกู้เงินเพื่อนำไปลงทุนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของฐานะทางการคลัง รวมทั้งกฎหมายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ซึ่งต้องขอขอบคุณ ส.ส. ที่ร่วมประชุมกันยาวนานถึง 4 วัน จนผ่านกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ

กู้เงินลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ถ้าหากวุฒิสภาจะเห็นชอบการกู้เงินที่เกินเลยไปจากกรอบ ซึ่ง กฎหมายอนุญาตให้รัฐบาลกู้เงินได้ ก็จะทำให้เราสามารถพร้อมเดินหน้าปฏิบัติการตามพระราชกำหนดฉบับนี้ได้ เริ่มต้นจากการกู้เงินทั้งในส่วนที่จะกู้ยืมในระบบธนาคารและในส่วนที่จะออก พันธบัตร ที่จะเหมือนกับพันธบัตรออมทรัพย์ประมาณ 30,000 ล้านบาท แล้วจะเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนทั่วไปจอง เพื่อเป็นทางเลือกในการออม เงินเหล่านี้ส่วนหนึ่งที่ไปเสริมเงินคงคลังก็ส่งคลัง ส่วนที่จะมีการกระตุ้นก็จะมีการลงทุนและสามารถเริ่มต้นในโครงการที่มีความ พร้อม ซึ่งตรวจสอบแล้วในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. ก็น่า จะประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท จากนั้นจะเป็นการใช้เข้าไปสู่ในปีงบประมาณ 53 เริ่มต้นในเดือน ต.ค. ยอดอยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านบาท

เงินลงทุน 3 ปีข้างหน้า 1.5 ล้านล้านบาท

ในกฎหมายฉบับที่ 2 ที่มีการเสนอเข้าสู่สภา คือพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เป็นเงินลงทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้าที่มียอดเงินรวมถึงประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อที่จะให้ประเทศไทยของเรามีขีดความสามารถในการแข่งขัน เข้มแข็งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งน้ำ ถนนหนทาง โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีอนามัยและการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงแผนในการที่จะพัฒนาพื้นที่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการนำความสงบสุขกลับคืนมา ยอดเงินตรงนี้ส่วนหนึ่งจะเป็นงบประมาณ ส่วนหนึ่งจะเป็นการลงทุนของเอกชน อีกส่วนหนึ่งจำเป็นจะต้องเป็นเงินกู้ เราจะใช้เงินนี้ราวปี 2553, 2554, 2555 โดยไม่ได้ออกเป็นพระราชกำหนด

อย่าแตกตื่นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็ว อันนี้ก็เป็นปัญหาจากคนที่เดินทางกลับมาและในช่วงเปิดภาคเรียนก็ไปพบอยู่ใน โรงเรียนหรือสถานที่ที่มีคนเดินทางมาจากประเทศที่มีการติดเชื้อก่อนหน้านี้ โดยหลายประเทศประสบปัญหาคล้าย ๆ กับเรา ที่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ผมย้ำนะครับ เราไม่มีความจำเป็นต้องตื่นตระหนก เพราะได้วางแนวทางไว้แล้ว ขอให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในข่ายสงสัยรีบไปรับการรักษาพยาบาล และรีบแจ้งข้อมูลมาที่รัฐบาลด่วน

เยือนต่างประเทศเจรจาการค้า-การลงทุน

สัปดาห์นี้ ผมจะต้องไปประเทศสิงคโปร์ อีกหนึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ผมจะต้องเดินทางไปเยือนตามธรรมเนียมและต้อง การที่จะไปฟื้นฟูเป้าหมายเรื่องความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เรื่องของแรงงาน และช่วงกลางสัปดาห์เป็นต้นไปจะเดินทางไปเยือนประเทศจีน เพื่อการขยายการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม เป้าหมายสำคัญคือเจรจาเรื่องสินค้าเกษตร ยางพารา มันสำปะหลัง ผลไม้ จะนำปัญหาเหล่านี้ไปพูดคุย โดยจีนจะเข้ามาร่วมก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟและการท่องเที่ยว ซึ่งมีผลดีต่อการท่องเที่ยวและเราก็ต้องการให้ชาวจีนมาเที่ยวเหมือนเดิม

ถาม : โครงการจำนำกุ้งคืบหน้าถึงไหนแล้ว ? (คุณเพิ่มศักดิ์ จ.นครศรีธรรมราช/081-891xxxx)

ตอบ : เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2552 คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาราคากุ้งขาวแวนนาไม ปี 2552 ผ่านสถาบันเกษตรกร ดังนี้

1. ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการตามโครงการรวบรวมผลผลิตกุ้งด้วยระบบ ลดต้นทุนการผลิต ของสหกรณ์ ซึ่งให้ขยายกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งให้ทั่วถึงมากขึ้นนอกเหนือจาก สมาชิกสหกรณ์ที่มีอยู่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากใน ขณะนี้ โดยได้เพิ่มจากเดิมที่อนุมัติไว้ 15,000 ตัน เพิ่มอีก 15,000 ตัน รวมเป็น 30,000 ตัน โดยอนุมัติเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมอีก 300 ล้านบาท รวมเป็น 600 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบริหารโครงการตามที่จ่ายจริงร้อยละ 3 ของวงเงินดำเนินการ แต่ไม่เกิน 9 ล้านบาท เพื่อทดแทนแนวทางการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ ห้องเย็น 1,400 ล้านบาท ในการรับซื้อกุ้งเกษตรกร เนื่องจากผู้ประกอบการฯไม่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ เพราะคาดว่าราคากุ้งในอนาคตจะไม่สูงไปกว่าราคารับจำนำที่ คชก. กำหนด จึงไม่สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขโครงการฯ

2. มอบหมายให้กรมการค้าภายในร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษาแนวทางการประกันราคาและการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โดยให้นำเสนอ (1) คณะอนุกรรมการพิจารณาช่วยเหลือด้านปัจจัย การผลิตทางการเกษตร พิจารณาเรื่องปริมาณผลผลิต กระบวนการจดทะ เบียนเกษตรกร และ ต้นทุนการเลี้ยงกุ้ง และ (2) คณะอนุกรรมการพิจารณาช่วยเหลือด้านราคาและการตลาดสินค้าเกษตร พิจารณาเรื่องกระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการประกันราคา การกำหนดราคาอ้างอิง รวมทั้งระเบียบ หลักเกณฑ์ในการดำเนินการ ทำนองเดียวกับการประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง พร้อมทั้งศึกษามาตรการอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กุ้งราคาตกต่ำ โดยนำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการ คชก. พิจารณาให้เรียบร้อยภายในเวลา 2 สัปดาห์

ถาม : อยากให้นายกฯแก้ปัญหาตกงานและการกู้เงิน ? (คุณนันทวัฆน์ กรุงเทพฯ/02-729xxxx)

ตอบ : ทางรัฐบาลมีโครงการต้นกล้าอาชีพเพื่อฝึกอบรมอาชีพและสร้างงานให้แก่ผู้ว่าง งาน ผู้กำลังจะถูกเลิกจ้างและนักศึกษาจบใหม่ 500,000 คน

โดยมีการจัดฝึกอบรมความรู้พื้นฐาน, พัฒนาทักษะและความสามารถในการประกอบอาชีพ โดยผู้เข้ารับฝึกอบรมจะได้รับเบี้ยเลี้ยงระหว่างอบรมไม่เกิน 1 เดือน วันละ 160 บาท และเงินอุดหนุนเพื่อประกอบอาชีพเป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือนจำนวน 4,800 บาท/คน/เดือน รวมถึงค่าเดินทาง ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมจะนำความรู้ กลับไปทำงานในท้องถิ่นบ้านเกิด เป็นการขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพชุมชนตามเศรษฐกิจพอเพียง โดยผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 1111

ถาม : การจองพันธบัตรรัฐบาลสามารถจองได้ที่ไหน ? (คุณปิยะภรณ์ กรุงเทพฯ/ 080-451xxxx)

ตอบ : พันธบัตรรัฐบาลจะเปิดให้มีการจองในวันที่ 13-17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ในระหว่างวันที่ 13-14 กรกฎาคม จะเป็นการจองล่วงหน้าโดยจะเปิดให้ผู้สูงอายุจองเท่านั้น โดยผู้ที่มีความประสงค์สามารถจองได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารนครหลวงไทย, ธนาคารทหารไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

ถาม : ในบ้านมีคนพิการ 1 คน คนชรา 1 คน คนพิการจะได้รับเบี้ยยังชีพหรือไม่ ? (คุณบังอร จ.ลพบุรี / 036-70xxxx)

ตอบ : ผู้พิการมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการหากมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. เป็นคนพิการที่ขึ้นทะเบียนคนพิการแล้ว หากยังไม่ได้ขึ้นสามารถขึ้นได้ที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการจังหวัด

2. มีความพิการจนไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้

3. มีฐานะยากจน

4. คณะอนุกรรมการฯ ได้คัดเลือกหรือให้ความเห็นชอบ

หลังจากขึ้นทะเบียนผู้พิการเรียบร้อยแล้วก็ไปขึ้นบัญชีรับเบี้ยยังชีพคนพิการได้ที่ อบต. หรือ เทศบาลในพื้นที่

การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพคนพิการจะต้องมีหลักฐานเอกสารดังต่อไปนี้

1. คนพิการ หรือบุคคล ในครอบครัวต้องเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อรับโอนเงินเบี้ยยังชีพคนพิการ

2. ผู้เปิดบัญชี จะต้องถ่ายเอกสารสมุดบัญชีเงินฝากแล้วกรอกราย ละเอียด ชื่อและสาขาของธนาคาร ตลอดจนประเภทเงินฝากและเลขที่บัญชีตามแบบที่กำหนดแจ้งสำนักงานพัฒนาสังคมและ สวัสดิการจังหวัด

3. มีหนังสือจากข้าราชการตั้งแต่ระดับ 3 หรือผู้มียศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี หรือร้อยตำรวจตรี ขึ้นไป หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ รับรองตามแบบที่กำหนดว่า หากคนพิการ หรือ บุคคลในครอบครัวที่เปิดบัญชีเงินฝากรับโอนแทนคนพิการนั้นตาย จะต้องแจ้งให้สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการจังหวัดทราบภายใน 3 วัน นับแต่วันตาย

ถาม : ทำไมถึงจะเปลี่ยนมาใช้วิธีการประกันราคาสินค้าเกษตรแทนการรับจำนำ ? (คุณศุภวดี จ.จันทบุรี 087-983xxxx)

ตอบ : เนื่องจากในการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรที่ผ่านมาได้แก่ การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ข้าวเปลือกนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ลำไยและกุ้ง ซึ่งการรับจำนำจะเกิดขึ้นภายหลังเกษตรกรทำการเพาะปลูกหรือทำการเลี้ยงสัตว์ ไปก่อนแล้ว โดยเกษตรกรไม่สามารถคาดการณ์ราคาผลิตผลได้ล่วงหน้า จึงไม่สามารถวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายเกิดปัญหาราคาผลิตผลตกต่ำและการรับจำนำมักมีปัญหาการตรวจสอบคุณภาพ ผลิตผล ไม่สามารถทำได้ทั่วถึง เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานที่เก็บรักษาผลิตผล (ระยะทางอยู่ห่างไกลจากเกษตรกรและปริมาณหรือความจุในการรับจำนำ) ขณะเดียวกันพบว่าการรับจำนำจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เห็นว่าเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจากการรับจำนำผลิตผลดังกล่าวจึงเห็นควรนำวิธี การประกันราคาสินค้าเกษตรแทนการจำนำเนื่องจากการประกันราคา

1. เป็นการกำหนดราคาสินค้ารับซื้อไว้ล่วงหน้าก่อนที่เกษตรกรจะทำการผลิตซึ่ง เกษตรกรจะสามารถนำข้อมูลที่ได้รับมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการผลิตพืชหรือ สัตว์ประเภทใด สามารถวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถคาดการณ์รายได้ที่จะพึง ได้รับจากการทำการผลิตพืชหรือสัตว์นั้น ๆ ด้วย

2. การประกันราคาจะทำให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ทำการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรัฐจะทำการชดเชยเฉพาะส่วนต่างจากราคาที่เกษตรกรขายผลผลิตได้จริง เมื่อเทียบกับราคาประกัน

3. ช่วยเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายการขนย้ายผลิตผลไปยังจุดรับจำนำซึ่งอยู่ ห่างไกล ขณะเดียวกันระหว่างการจำนำหากเกษตรกรต้องการไถ่ถอนจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการขนย้ายผลิตผลไปจำหน่ายเพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายในการประกันราคาพืชผลหลัก 2 ชนิด ได้แก่ มันสำปะหลังกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนข้าวจะนำร่องโครงการฯ 8 จังหวัด บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ชนิดข้าวเปลือกหอมมะลิ ส่วนผลิตผลอื่นต้องมีการศึกษาแนวทางและวิธีการให้ชัดเจนอีกระยะหนึ่งก่อน.